วันอังคารที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

หลักสูตรซีเคียวริตี้ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานครเปิดหลักสูตรซีเคียวริตี้ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม

การพัฒนาผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างความมั่นคงปลอดภัยบนระบบเครือข่าย

 

กรุงเทพฯ 27 มกราคม 2554 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานครเปิดหลักสูตรซีเคียวริตี้ตามหลักสูตรโครงการเน็ทเวิร์คกิ้ง อะคาเดมี (Networking Academy®) หรือ เน็ทอะแคด (NetAcad) เพื่อสนองตอบตลาดที่มีความต้องการความปลอดภัยในเครือข่ายสูง ย้ำวิสัยทัศน์ยังคงสนับสนุนการศึกษาอย่างต่อเนื่อง

 

ดร.ศุภกร กังพิสดาร รองคณบดีฝ่ายวิจัยและผู้อำนวยการบัณฑิตศึกษาสาขาวิศวกรรมเครือข่าย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยฯ เปิดสอน CCNA ซีเคียวริตี้ (Cisco Certified Network Associate- security) ภายใต้คณะวิทยาการและเทคโนโลยีสารสนเทศ สำหรับหลักสูตร CCNA Security แบ่งการเรียนการสอนออกเป็น

1. หลักสูตร CCNA Security ในระดับปริญญาตรี เปิดสอนให้กับนักศึกษาชั้นปีที่ 3 โดยมีการเรียนการสอนทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ซึ่งนักศึกษาที่จะลงเรียนหลักสูตร CCNA Security นั้นไม่จำเป็นต้องผ่านหลักสูตร CCNA (Cisco Certified Network Associate) 1 2 3 หรือ 4 มาก่อน 

2. หลักสูตร CCNA Security ในระดับปริญญาโท แบ่งการเรียนการสอนออกเป็นทั้งภาคทฤษฏีและภาคปฏิบัติ ซึ่งในปริญญาโทจะเน้นสอนทฤษฏีค่อนข้างเยอะ และเวลาที่เหลือให้นักศึกษาเข้าไปปฏิบัติที่ห้องแล็บ เทอมหนึ่งใช้เวลาสอนประมาณ 15 ครั้งๆ ละ 3 ชั่วโมง  

 

ดร.ศุภกร กล่าวว่า "การเปิดสอนหลักสูตร CCNA  Security นั้น ทำให้ภาพลักษณ์การเป็นมหาวิทยาลัยทางด้านเทคโนโลยีชัดเจนมากยิ่งขึ้น ทำให้นักศึกษา หรือคนทำงานทางด้านไอทีมีความสนใจเป็นอย่างมากที่จะมาเรียน มองว่าเมื่อเรียนจบจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานครแล้ว สามารถออกไปทำงานในภาคอุตสาหกรรมไอทีได้เลย ซึ่งมหาวิทยาลัยฯ เองก็มีนโยบายว่า หลักสูตรที่จะนำมาสอนนั้นต้องอ้างอิงกับความต้องการของอุตสาหกรรม ดังนั้นการเปิดสอนหลักสูตร CCNA  security ของ   ซิสโก้ถือว่าตอบโจทย์ให้กับนักศึกษา มหาวิทยาลัย และอุตสาหกรรมไอทีได้เป็นอย่างดี เนื่องจากซิสโก้เป็นผู้นำทางด้านตลาดเครือข่ายอยู่แล้ว"

 

ดร.ธัชพล โปษยานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า หลักสูตรใหม่ด้านการรักษาความปลอดภัย (Security) ในระดับ CCNA ช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมมีบุคลากรที่มีทักษะด้านการบริหารความเสี่ยงและการรักษาความปลอดภัย รวมทั้งผลการศึกษาโดยฟอเรสเตอร์ คอนซัลติ้ง ระบุว่าการดูแลระบบให้ปลอดภัยนับเป็นบทบาทที่สำคัญและกว่า 80% ขององค์กรต่างๆ ที่ทำการสำรวจมีความต้องการบุคลากรด้านนี้ ซึ่งนักเรียน นักศึกษาทั่วโลกสามารถเลือกลงทะเบียนเรียนได้

 

"การดูแลระบบรักษาความปลอดภัยและการบริหารความเสี่ยงนับเป็นทักษะของผู้ทำงานด้านไอทีที่เป็นที่ต้องการในปัจจุบันมากเป็นอันดับต้นๆ และความต้องการนี้ในระดับโลกนับวันยิ่งสูงขึ้น องค์กรต่างๆ ทั่วโลกประสบกับปัญหาขาดพนักงานที่มีคุณสมบัติเฉพาะในด้านความรู้และทักษะที่สามารถบริหารอุปกรณ์และแอพลิเคชั่นต่างๆ ในสภาพโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องการความปลอดภัยสูงสุด ต้องการบุคลากรที่ตระหนักถึงความเปราะบางของเครือข่าย และเพื่อลดหรือกำจัดภัยคุกคามต่างๆ"


เกี่ยวกับ เน็ตเวิร์คกิ้งอะคาเดมี

โครงการ Networking Academy เปิดตัวเมื่อเดือนตุลาคม 2540 โดยเริ่มจากสถานศึกษา 64 แห่งใน 7 รัฐเข้าร่วมโครงการนี้ และปัจจุบันโครงการได้ขยายขอบเขตครอบคลุมกว่า 150 ประเทศ นับตั้งแต่ที่เริ่มโครงการ มีผู้เรียนกว่า 1.6 ล้านคนสมัครเข้าเรียนในสถาบันที่เปิดสอนหลักสูตรดังกล่าวหรือที่เรียกว่า Academy กว่า 10,000 แห่ง โดยสถาบัน Academy เหล่านี้ตั้งอยู่ตามโรงเรียนมัธยม โรงเรียนอาชีวะศึกษา วิทยาลัย มหาวิทยาลัย และองค์กรต่างๆ ในชุมชน

 

สำหรับในประเทศไทย เริ่มนำโครงการนี้มาสู่สถาบันการศึกษาไทยตั้งแต่ปี 2542 ปัจจุบันมีสถาบันที่เข้าร่วมโครงการ 60 แห่งทั่วประเทศ ทั้งสถาบันการศึกษาของภาครัฐ และเอกชน สถาบันการศึกษาที่รับผิดชอบบทบาท ครูผู้สอนในระดับภูมิภาค (Regional Academy) มี 3 แห่ง สำหรับหลักสูตร CCNA ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สำหรับหลักสูตร Fundamentals of Network Security, หลักสูตร Fundamentals of Wireless LANs และหลักสูตร IT Essentials ครูผู้สอนระดับภูมิภาค (RA) ของ 3 หลักสูตรนี้ คือ มหาวิทยาลัยรังสิต

เกี่ยวกับซิสโก้ ซีสเต็มส์

ซิสโก้ (NASDAQ: CSCO) เป็นผู้นำระดับโลกทางด้านระบบเครือข่ายที่เปลี่ยนแปลงวิธีการเชื่อมต่อ การสื่อสาร และการทำงานร่วมกัน ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับซิสโก้ได้ที่ http://www.cisco.com  หรือติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวของซิสโก้ได้ที่ http://newsroom.cisco.com  สำหรับผลิตภัณฑ์ของซิสโก้ในประเทศไทยได้รับการจัดหาโดยบริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นบริษัทสาขาของซิสโก้ ซีสเต็มส์ อิงค์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น